Friday, November 23, 2012

งานประเพณีรับบัวปี 2555 ทำบุญไม่ซ้ำใคร หนึ่งเดียวในโลก


"ถ้าสายตาเรารับภาพได้เหมือนกล้องถ่ายรูป ที่สามารถหยุดภาพตรงหน้าในวินาทีนั้นได้ เราจะเห็นดอกบัวสีขาว สีชมพูนับร้อยนับพันดอก ปลิวไสวอยู่รอบเรือหลวงพ่อโตราวกับสายฝน" ผมนั่งหลับตารำพึงรำพันกับความทรงจำตัวเอง ขณะนั่งรถออกจากบริเวณที่ว่าการอำเภอบางพลี จ. สมุทรปราการ หลังจากใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมงล่องเรือในคลองสำโรง เพื่อเก็บภาพ งานประเพณีรับบัว ประจำปี 2555 ท่ามกลางสายฝนโปรยปราย และดอกบัวนับหมื่นนับพันดอกที่ลอยฟ่องอยู่เต็มลำคลองในวันอันแสนงดงามของชาวบางพลี จากการเชิญชวนของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.ภูมิภาคภาคกลาง) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท. สำนักงานกรุงเทพฯ)
เช้าตรูของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ก่อนออกพรรษา 1 วัน ปีนี้ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม 2555 ผมเดินทางมาถึงที่ว่าการอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ เมื่อประมาณ 7 โมงเช้า ตอนนี้รอบๆ บริเวณหน้าที่ว่าการเนืองแน่นไปด้วยผู้คนและร้านค้าที่มาออกงานส่งเสียงขายของกันดังสนั่น ลานวัฒนธรรมด้านข้างที่ว่าการฯ ก็มีกิจกรรมมากมายให้นักท่องเที่ยวชมสลับกัน ทั้งรำกลองยาว วงดนตรีอังกะลุง ส่วนริมคลองมีชาวบ้าน นักท่องเที่ยว และเจ้าหน้าที่จัดงานมาออกันอยู่สองฟากฝั่ง คนยืนกันเบียดเสียดล้นหลามแทบไม่รู้ว่าจะแทรกตัวเข้าไปยืนตรงไหน สะพานข้ามคลอง ซี่งมีอยู่เป็นระยะๆ ตลอดลำคลอง ก็มีผู้ร่วมงานมายืนจับจองพื้นที่กันอยู่เต็มสะพาน เลยขึ้นไปอีกหน่อย ตามปากคลองต่างๆ ที่แยกจากคลองสำโรงก็มีเรือยนต์ เรือพาย หลายสิบลำจอดเรียงรายอยู่ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบางพลีในอดีตที่ยังมีความผูกพันกับสายน้ำและคลองแห่งนี้เป็นอย่างดี
เมื่อหลายปีก่อนผมเคยมาร่วมงานประเพณีรับบัวและเฝ้าชมขบวนแห่เรือหลวงโตบริเวณหน้าวัดบางพลีใหญ่ในฐานะนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบมาเก็บภาพความงดงามของวัฒนธรรมและประเพณีโบราณที่นับวันจะหาดูยากขึ้นทุกที! แต่สำหรับปีนี้ สนุก! ท่องเที่ยว ได้กลับมาอยู่ในงานนี้อีกครั้ง ในฐานะคนทำงานที่เดินทางมาเก็บภาพสวยๆ ผมจึงขอเปลี่ยนบรรยากาศจากการยืนชมขบวนแห่อยู่บนฝั่ง มานั่งเรือหางยาวรับจ้างจากหน้าที่ว่าการอำเภอ (เรือลำหนึ่งนั่งได้ลำละประมาณ 6-8 คน) แล่นขึ้นไปตามคลองสำโรงที่ขุ่นข้นจนไม่ค่อยมีใครกล้าลงไปดำผุดดำว่ายอีกต่อไป หากยังเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้านสองฝั่งคลองบ้างเป็นครั้งเป็นคราวไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะเดี๋ยวนี้มีถนนหนนทางเข้าถึงทุกบ้าน เดินทางสะดวกกว่าเป็นไหนๆ
คลองสำโรง เป็นคลองเก่าแก่ที่ขุดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญของชาวบางพลีในอดีต มีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลสำโรงใต้อำเภอพระประแดง ผ่านตำบลสำโรงเหนือ อำเภอสมุทรปราการ ผ่านตำบลบางแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ ตำบลบางโฉลง ตำบลศรีษะจระเข้ใหญ่ อำเภอบางพลี และผ่านที่ว่าอำเภอบางพลี ไปถึงท่าสะอ้าน อำเภอบางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา คลองนี้เป็นเส้นทางติดต่อคมนาคมได้ทุกอำเภอ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งด้านการเกษตรและพาณิชย์  เมื่อเกือบร้อยปีก่อน ชาวบางพลีนอกจากจะใช้ประโยชน์จากการคลองสำโรงในการเกษตรและใช้เป็นเส้นทางสัญจรไปมาแล้ว คลองสำโรงและหนองบึงใกล้เคียงยังเป็นแหล่งที่มีดอกบัวหลวงชุกชุมมาก เมื่อใกล้ถึงวันทำบุญออกพรรษา คนในอำเภอใกล้เคียงโดยเฉพาะชาวมอญในอำเภอพระประแดงซึ่งอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อย จะพายเรือกันมาเก็บดอกบัวไปไหว้พระ เมื่อมากันบ่อยๆ ชาวบางพลีเห็นดังนั้นก็มีน้ำใจไปเก็บหาดอกบัวมาไว้ให้ ลองนึกดูซิว่า บรรยากาศในวันก่อนพรรษาในเวลานั้นจะอบอุ่นสักเพียงใด เมื่อคนต่างถิ่นพายเรือมาขอรับดอกบัวจากชาวบางพลีทั้งสองฝั่งคลอง ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน การให้และรับดอกบัวก็จะกระทำกันอย่างสุภาพ คือส่งและรับกันมือต่อมือ ก่อนจะให้กันก็ยกมืออธิษฐานเสียก่อน เพราะถือว่าเป็นการทำบุญทำกุศลร่วมกัน
คุณลุงคนขับเรือวัย 60 เศษๆ ที่ผมนั่งไปด้วย เล่าให้ฟังว่า วันรับบัว คือเช้าของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 แต่คนต่างถิ่นจะพายเรือมาตั้งแต่เย็นของวันขึ้น 13 ค่ำ เย็นนั้นคลองสำโรงจะอึกทึกครึกครื้นไปด้วยเสียงดนตรีนานาชนิด ใครรู้จักบ้านไหนก็แวะเวียนไปเยี่ยมกัน เจ้าของบ้านก็ออกมาต้อนรับขับสู้ไม่ต่างจากกับญาติของตัวเอง ตอนเช้าก็ลอยเรือไปรับบัว ขากลับก็แข่งเรือไปตลอดโดยไม่มีเส้นชัย ไม่มีกรรมการตัดสิน ใครนึกสนุกอยากจะแข่งเรือกับใครก็ได้ ดอกบัวที่ได้ส่วนมากจะแวะนำไปบูชาพระสมุทรเจดีย์หรือวัดใกล้บ้านของตน นี่คือที่มาของปีประเพณีรับบัวในอดีต ที่สวยงามและอบอุ่นจนยากที่จะได้เห็นบรรยากาศแบบนี้กันอีกแล้ว
งานประเพณีรับบัวเลือนหายไปช่วงหนึ่ง ต่อมาในสมัย นายชื้น วรศิริ เป็นนายอำเภอระหว่าง พ.ศ. 2478-2481 ได้รื้อฟื้นประเพณีรับบัวที่มีทีท่าว่าจะสูญหายไปให้ขึ้นมาใหม่ ในงานรับบัวของทางราชการครั้งแรกนั้นมีการแต่งเรือประกวดประชันกัน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ต่างช่วยกันหาดอกบัวและแจกข้าวต้มมัดแก่แขกต่างบ้านและผู้จัดเรือเข้าประกวด เรือที่จัดเข้าประกวดในครั้งแรก มีการเอาไผ่มาสานเป็นโครงรูปองค์พระพุทธรูป ปิดหุ้มด้วยกระดาษทอง ต่อมาบนเรือสมมุตว่า เป็นเรือหลวงพ่อโตแห่งวัดใหญ่บางพลีในในปีต่อๆ มาเลยมีไอเดียอัญเชิญพระพุทธรูปหลวงพ่อโตจำลองลงเรือล่องมาตามคลองสำโรงกลายเป็นงานประจำปีของอำเภอ ซึ่งถูกจัดงานใหญ่ขึ้น มีการออกร้านขายของ มีมหรสพ แล้วประเพณี ‘รับบัว' ก็กลายเป็นประเพณี ‘โยนบัว' ในปัจจุบัน ส่วนดอกบัวที่ใช้ในงานทุกวันนี้ ลุงบอกกับเราว่า ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าซื้อมาจากปากคลองตลาด เพราะดอกบัวในคลองสำโรงเดี๋ยวนี้ไม่มีให้เก็บแล้ว
   
ขณะเรือแล่นผ่านสองฝั่งคลอง ชาวบ้านจำนวนนับร้อยนับพันยืนรอเวลาโยนบัวด้วยใจจดจ่อ แต่ในอีกไม่กี่นาทีต่อมา ท้องฟ้าที่ดูครึ้มนิดๆ และอากาศกำลังเย็นสบาย ก็เปลี่ยนเป็นเม็ดฝนโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย ผมกับช่างภาพอีกหลายคนที่อยู่ในเรือต้องรีบเก็บกล้องและเข้าไปหลบฝนอยู่ใต้สะพานข้ามคลอง เสื้อผ้าและกางเกงเริ่มเปียกปอนจากละอองฝนทีละนิดๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ระหว่างที่ผมก้มหน้าก้มตาหลบฝน เพราะกลัวว่ากล้องถ่ายรูปจะเปียกอยู่นั้น ประชาชนจำนวนมากยังคงยืนแน่นอยู่สองฝั่งคลอง และหยิบร่มขึ้นมากางร่มหลบฝนโดยไม่มีที่ท่าว่าจะหนีไปไหน แม้บางคนจะจะเนื้อตัวเชอะแชะบ้างก็ตาม แต่ผมก็เห็นว่าคนที่ยืนรอต่างก็ยิ้มแย้มแจ่มใสดี มือถือดอกบัวกันคนละกำสองคำ สีขาวบ้าง สีชมพูบ้าง มองไปทางไหนก็เห็นดอกบัวกระจ่างอยู่ในซอกมุมต่างๆ ด้วยพลังศรัทธาในพุทธศาสนา บรรยากาศไม่ต่างจากงานตักบาตรดอกไม้ที่ผมเคยเห็นที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี
...ช่างเป็นภาพที่ผมรู้สึกงดงาม และให้ความหมายบางอย่างของประเพณีนี้ได้เป็นอย่างดี แม้งานประเพณีโยนบัวปีนี้ จะตรงกับเช้าวันจันทร์ แต่ก็ยังมีคนมาเที่ยวงานโยนบัวเป็นจำนวนไม่น้อย แต่หากปีไหนวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันหยุดเสาร์- อาทิตย์ ปีนั้นคนจะยิ่งเยอะมากเป็นพิเศษ
ฝนเริ่มซาเม็ด และตกๆ หยุดๆ เป็นพักๆ ขบวนแห่เรือหลวงพ่อโต ค่อยๆ เคลื่อนตัวมาตามลำคลองจากบริเวณหน้าวัดบางพลีใหญ่ในทีละนิดๆ พร้อมเสียงดนตรีดังกระหึ่มเรียกความสนุกสนานคึกคัก โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่หน้าอำเภอบางพลี ซึ่งมีผู้หลักผู้ใหญ่รออยู่ปะรำพิธี ด้วยความที่คลองสำโรงไม่ใช่แคบๆและมีความคดเคี้ยวไปมาพอสมควร เมื่อชาวบ้านต้องการถวายดอกบัวแด่หลวงพ่อโตที่อยู่ในเรือ วิธีที่จะส่งดอกบัวขึ้นเรือก็มีอยู่วิธีเดียว ไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้ นั่นคือ การโยนดอกบัวลงเรือตรงตำแหน่งที่ประดิษฐานหลวงพ่อโต ที่มีเจ้าหน้าที่ผู้ชายแต่งกายเป็นเทวดานั่งอยู่รอบๆ คอยดูแลความเรียบร้อยอยู่ในเรือ
ก่อนโยนบัวทุกคนจะยกมืออธิษฐานเสียก่อน คนที่ยืนอยู่ไกลจากเรืองหลวงพ่อโตบ้างก็อาจจะเขวี้ยงดอกบัวจนสุดกำลังเอื้อม พร้อมกับลุ้นอย่างสนุกสนานว่า ดอกบัวที่โยนลงไปนั้นจะลงเรือพอดีเป๊ะหรือไม่ ถ้าโยนลงเรือก็จะดีใจกันยกใหญ่ แต่บางทีความสนุกสนานเฮฮา ก็อยู่ตอนที่ดอกบัวจำนวนมากพลาดเป้าลงไปลอยละล่องอยู่ในน้ำ สีขุ่น หรือไม่ก็โยนโดนหัวของเหล่าเทวดาทั้งหลาย ที่เป็นเหมือนเป้านิ่งอยู่บนเรือหลวงพ่อโต
เมื่อโยนดอกบัวกันแล้ว ลูกศิษย์หลวงพ่อบนเรือก็จะโยนข้าวต้มมัดให้ชาวบ้านสองฝั่งคลอง ที่เชื่อกันว่า กินแล้วเป็นยา กินแล้วเป็นมงคล ชาวบ้านจึงชุลมุนแย่งข้าวต้มมัดในถุงพลาสติกหูหิ้วที่โยนมาให้ทั้งถุงนั้นเป็นการใหญ่ ระหว่างเรือแล่นไปตามคลองสำโรง ดอกบัวนับร้อยดอกก็ปลิวไสวลอยมาลงเรือท่ามกลางรอยยิ้มของพุทธศาสนิกชนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข เมื่อเรือหลวงพ่อโตแล่นมาถึงที่ปะรำพิธีหน้าที่ว่าการอำเภอ ถึงตรงนี้ชาวบ้านก็โยนบัวชุดใหญ่กันอีกรอบ ปริมาณดอกบัวจำนวนมหาศาลสูงเริ่มเหนือพระอุระ (หน้าอก) หลวงพ่อโต และกองเป็นพะเนินอยู่รอบข้าง ถึงขนาดนั้นก็ยังมีดอกบัวนับพันนับหมื่นดอกที่ลอยเกลื่อนอยู่ในน้ำเป็นทางยาว แม้ลูกศิษย์จะพยายามเก็บดอกบัวที่โยนพลาดขึ้นจากน้ำดอกแล้วดอกเล่าก็ตาม
หลังจากจบขบวนแห่ คนที่ยังมีดอกบัวเหลืออยู่เพราะโยนไม่ทัน หรือเตรียมมามากเกินไป ก็เอามาโยนเล่นกันบ้าง บางคนเก็บไว้โยนใส่เทพีที่นั่งมากับเรือประกวดบ้าง วันนี้แม้วัตถุประสงค์ของการ 'รับบัว' จะเปลี่ยนไปบ้างตามกาลเวลา และคงเป็นการยากที่เราจะไปต่อต้านกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ผมก็ยังรู้สึกอิ่มเอิบใจและมีความสุขกับพลังความศรัทธาของประชาชนที่มาร่วมงานประเพณีของชาวบางพลีให้สืบทอดคงอยู่ต่อไป
ส่วนใครอยากมารับบัวกับชาวพลีเหมือน ในปีนี้ ก็เตรียมตัวเอาไว้ให้ดีในปีหน้า เพราะเขาจัดแค่ปีละครั้งเท่านั้น คือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ก่อนออกพรรษา 1 วัน เป็นประจำทุกปี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้: สำนักงานการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอบางพลี โทร.0 2337 4059
เรื่อง: ธรรมวารี ธีระณารา
ภาพ: ธนปกรณ์ สุขสาลี,ทรงเกียรติ ชินวงษ์

บทความที่ได้รับความนิยม