Wednesday, January 23, 2013

คืนเพ็ญบนเด่นกระต่าย และดอยอมพายในวันฉายแสง


ดอยอมพาย

ดอยอมพาย

คืนเพ็ญบนเด่นกระต่าย และดอยอมพายในวันฉายแสง (อ.ส.ท.)


จริยา ชูช่วย...เรื่อง 
นพดล กันบัว ไกรวุฒิ ปิฎก ปุ๊ดธิ...ภาพ

          "เด่นกระตง กระต่ายที่ไหนไม่มีหรอก มีแต่ดอยหัวโล้น ดินมันแห้ง แดงเถือกไปทั้งเขา ต้นไม้ไม่มีเลย เหลือแต่ตอแต่ครูชอบขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาบนนี้นะ ทำไมน่ะเหรอ มองไปสิ คลื่นภูเขาตรงหน้า มันเป็นริ้วสลับแสงเงาหลากสีไล่โทนกันเป็นชั้น ๆ งามพิลึก เหมือนแสงแห่งความหวังของคนที่นี่ แต่เธอคงนึกภาพไม่ออกหรอก ก็นั่นมันเมื่อ 18 ปีมาแล้ว ตอนหลังดอยมันเริ่มเขียวขึ้น เขียวขึ้น ตั้งแต่มีโครงการฯ มาลงต้นไม้นั่นแหละ เขียวจนมีขี้กระต่ายป่าเต็มไปหมด สงสัยจะเรียกว่าเด่นกระต่ายด้วยเหตุนี้ละมัง" ครูสุภาพ พุมเรียงป่า คนพื้นราบที่ไปปักหลักเป็นครูดอยเล่าความหลังให้ฟัง

ดอยอมพาย

1. เคยนั่งหลังช้างไหม

          ระยะทางหลังผ่านอำเภอแม่แจ่มไปอีกกว่า 40 กิโลเมตร ก่อนถึงดอยอมพายให้ความรู้สึกเหมือนกำลังโยกตัวไปมาบนแหย่งหลังช้าง ต่างกันตรงที่เวลาลงหลุม โช้ครถมันลงไม่นิ่มเหมือนกับขาช้าง ไม่พักจินตนาการไปถึงยามหน้าฝน ที่ช้างตัวเดิมไปเสริมออพชั่นเหมือนสวมสกีบกพร้อมลื่นไถลได้ตลอดเวลา นี่ยังไม่นับรวมต้องลุ้นว่าระยะเวลาสามสี่ชั่วโมงต่อ แต่นี้จะรอดพ้นจากหล่มกันหรือไม่ ... ห่างไกลจนเผลอคิดไปว่าจะมีใครขึ้นมาทำอะไรบนนี้

          พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งเสด็จพระราชดำเนินดอยอมพาย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 แขวนเด่นในอาคารสำนักงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยอมพาย ฉายสะท้อนความจริงว่า แม้ลูกจะอยู่ในแดนดอยห่างไกลสักเท่าไร ก็ไม่เคยไกลห่างจากสายตาแม่ และไม่มีที่แห่งไหนที่แม่จะเดินทางไปหาลูกไม่ถึง

          ในการเสด็จครั้งนั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นผืนป่าดอยอมพายถูกแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอยกินพื้นที่นับพันไร่ และหากปล่อยไว้มีแนวโน้มว่าชาวบ้านจะขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มอีก เช่นนี้แล้วคอยอมพายซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีลำห้วยแม่ปุ๊ ลำห้วยไม้หมื่น ไหลสู่ลำห้วยแม่ปิงน้อย ก่อนไหลต่อไปยังลำน้ำแม่แจ่ม คงหมดเกลี้ยง อีกทั้งสัตว์ป่า พวกเก้ง ชะนี กระต่าย ไก่ป่า หมูป่า เม่นหางพวง นก และงูต่าง ๆ ก็คงไร้ที่อยู่อาศัย เมื่อทอดพระเนตรดังนั้น พระองค์ทรงเชิญหลายหน่วยงาน ทั้งแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยอมพาย หรือที่หลายคนเรียกกันว่าโครงการพระราชดำริดอยอมพาย ขึ้นที่ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นับแต่นั้น
ดอยอมพาย

          สาเหตุที่ดอยอมพายเหี้ยนเตียน เกิดจากการถางป่าทำไร่เลื่อนลอย และเหตุที่ต้องทำไร่เลื่อนลอยก็เพราะภาวะขาดแคลนน้ำ และดินขาดสารอาหาร เมื่อปลูกอะไรไม่ขึ้น ชาวบ้านจึงย้ายแหล่งทำกินไปเรื่อย ๆ หลักการแก้ปัญหาจึงต้องกลับมาที่การปรับสมดุลของระบบนิเวศต้นน้ำให้กลับคืนมา ควบคู่กับการแนะให้ชาวบ้านรู้จักบำรุงปรับปรุงดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น ในพื้นที่ทำกินเท่าเดิม ที่สำคัญคือสอนให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล และสามารถพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงได้

          ตั้งแต่ก่อตั้งสถานีฯ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้น จึงคืนพื้นที่ป่าบริเวณสถานีฯ และบริเวณใกล้เคียงรวม 3,585 ไร่ และใช้เป็นแปลงปลูกป่าดิบเขาตามสภาพเดิมไปแล้วกว่า 980 ไร่ จนเกิดเป็นป่าที่มีความหลากหลายของไม้ยืนต้นกว่า 200 ชนิด และแหล่งน้ำรอบดอยอมพายก็กลับมาสมบูรณ์ขึ้น ในสถานีฯ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และทดลองปลูกพืชผักผลไม้ทางเศรษฐกิจ เช่น สตรอว์เบอร์รี กาแฟ ชา ถั่วอะชูกิ เสาวรส ดอกไม้จีน ฯลฯ 

ดอยอมพาย

          แนะนำว่ามาถึงดอยอมพายแล้ว อย่าลืมถามหาบรอกโคลินี (Brocolini) พืชตระกูลเดียวกับบรอกโคลี แต่ลักษณะดอกไม่เกาะเป็นกลุ่ม และมีก้านแตกแขนงตรงข้อ ที่สำคัญรสชาติหวานกรุบกรอบกินได้ทั้งต้น หรือจะเดินเล่นเพลิน ๆ ชมไก่สามเหลืองอมพาย ดูวิธีเลี้ยงหมูหลุม และทักทายกับเจ้ากระต่ายผู้นำ ที่เอากระต่ายบ้านมาฝึกให้ขุดหลุมได้เอง เพื่อทดลองปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

2. อมพาย ชื่อนี้ชวนฉงน

          จากการสอบถามหลายคนในพื้นที่ ไม่มีใครทราบความหมายที่แน่ชัดเพียงแต่สันนิษฐานกันว่า เหตุที่เรียกว่าดอยอมพาย เพราะสันดอยแห่งนี้ลากยาวไปจดที่หมู่บ้านยางอมพาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ห่างจากดอยอมพายไปราว 40 กิโลเมตร จึงเรียกชื่อดอยตามชื่อหมู่บ้าน แต่กร่อนให้สั้นลง เหลือเพียงดอยอมพาย ชาวลัวะเรียกบริเวณที่ตั้งสถานีฯ ว่า เหงียกกัง หมายถึง จุดที่มีทิวทัศน์งดงาม ปลอดโปร่ง ส่วนภาษาปกากะญอ จะเรียกบริเวณสถานีฯ ว่า เบอะนาที เป็นชื่อต้นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ขึ้นมากแถบนี้ มีเม็ดสีขาวคล้ายลูกปัด เชื่อว่าหากพกติดตัวยามเดินทางจะสามารถป้องกันอันตรายจากผีป่าได้

          ยามอาทิตย์กำลังลับเหลี่ยมเขา จากสถานีฯ สามารถมองเห็นวิวของบ้านสาม หมู่บ้านเล็ก ๆ ราว 40 หลังคาเรือน ซ่อนตัวอยู่ในฟากเขาตรงข้ามได้ชัด มีสิ่งก่อสร้างสะดุดตาที่ต่างจากพวกเพียงหลังเดียว คืออาคารของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสาม นอกนั้นคือพื้นที่สีเขียวของผืนป่า จากภาพฉากหลังตัดฉับมาเป็นภาพโคลสอัพตรงหน้า ชาวบ้านบ้าง กำลังเดิน บ้างก็นั่งท้ายรถกระบะเตรียมตัวกลับบ้าน หลังเสร็จภารกิจจากไร่นาและจากสถานีฯ ท่วงท่ารวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ งดงาม เพลินตา และมีชีวิตชีวาเหมือนการนั่งดูแฟชั่นโชว์ดี ๆ สักงาน

ดอยอมพาย

          สร้อยลูกปัดแผงใหญ่สีตัดจัดจ้า แดง ฟ้า เหลือง สอดรับกับใบหน้ารูปไข่เปื้อนริ้วรอยของหญิงวัยทำงาน อีกทั้งลายสวยของเสื้อทดและซิ่นผืนเก่า ที่บางคนใส่กางเกงสมัยใหม่ไว้ด้านในซิ่นอีกชั้น เพื่อความคล่องตัว หรือบ้างก็ใส่เสื้อยืดแบบเราคลุมทับเสื้อผ้าทอลายสวยอีกที หากแต่ไม่สิ้นเสน่ห์แห่งชาติพันธุ์ด้วยเครื่องประดับและเครื่องมือทำมาหากิน ยามกลับบ้านศีรษะหญิงสาวไม่เคยห่างกระบุงก้นลึก อยู่ที่ว่าในกระบุงจะแบกรับน้ำหนักมหาศาลของพืชผลตามฤดูกาลชนิดใด บางคนก็คาบกล้องยาสูบพ่นควันปุ๋ย ๆ เป็นการมิกซ์ แอนด์ แมทช์ ที่ดูเป็นธรรมชาติและสวยงามอย่างลงตัว

          บ้านสาม บ้านละอางใต้ และบ้านผักไผ่ (ปอมีโจ๊ะ) เป็นหมู่บ้านกลุ่มเป้าหมายของโครงการพระราชดำริดอยอมพาย ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านสามและบ้านละอางใต้เป็นชาวลัวะ ส่วนที่บ้านผักไผ่เป็นชาวปกากะญอ นับถือศาสนาคริสต์ รองมาคือศาสนาพุทธ ทั้งสามหมู่บ้านอยู่ในตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชายแดนติดกับอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หากมาเยี่ยมเยือนในเดือนธันวาคมถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่คริสตจักรบ้านสาม ส่วนในช่วงเข้าพรรษามักมีภิกษุขึ้นมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์รอบ ๆ หมู่บ้าน เช่น สำนักสงฆ์บ้านผักไผ่ (ปอมีโจ๊ะ) สำนักสงฆ์บ้านละอางเหนือ

          ฉันว่าอีกอย่างที่ทำให้หมู่บ้านแถบนี้ดูมีเสน่ห์ในสายตาผู้มาเยือนจากเมืองใหญ่ ก็ตรงที่ไม่มีไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์นี่แหละ ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไปไม่กี่ปี สิ่งที่เรียกว่า "ไม่มี" กลับกลายเป็นเสน่ห์ที่คน "มี" หลายคนโหยหาขึ้นทุกวัน

ดอยอมพาย


3. ก่อนคืนเพ็ญบนเด่นกระต่าย

          เลยแยกบ้านเซโดซา อำเภอแม่แจ่ม หนึ่งในหมู่บ้านขยายผลของโครงการฯ ไปอีกเกือบ 10 กิโลเมตร คือที่ตั้งของ เด่นกระต่าย จุดหมายของเราเย็นวันนี้ เด่น มีความหมายว่า เนิน หรือ ม่อน ส่วนคำว่า กระต่าย ก็คงมาจากความหมายที่ครูสุภาพเล่าให้ฟังตามที่ได้กล่าวไว้ในบทนำ แต่การณ์กลับตาลปัตรอีกรอบเมื่อปัจจุบันนี้กระต่ายที่เคยทิ้งขี้เกลื่อนไว้ให้ครูจดจำ กลับไม่มีมาให้เห็นสักตัว เพราะสาเหตุใหม่ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ป่าลดน้อยลง แต่คงเป็นเพราะคนจับกระต่ายเพิ่มมากขึ้น

          เด่นกระต่ายสูง 1,460 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง เป็นเนินหญ้า เหมาะแก่การแค้มปิ้ง มีต้นสนปกคลุมแต่ไม่หนาแน่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยหลวง ซึ่งเป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในบริเวณดอยอมพาย ยามเย็นมองเห็นริ้วคลื่นภูเขาสุดลูกตาไหล ยาวแบบพานอรามาแสงหักเหตามองศาหนักเบา งดงามจนไม่มีใครยอดละสายตามาพูดจากัน ปล่อยให้คลื่นภูเขาและเงาหนักเบาเหล่านั้นถาโถมความรู้สึกเต็มอารมณ์ จนตะวันลับขอบฟ้า เสียงสนทนาจึงค่อย ๆ ดังขึ้นอีกครั้ง

ดอยอมพาย

          ร้อยเอก สิริเขตต์ วาณิชบำรุง หรือผู้กองเขตต์ เล่าว่า ในช่วงปลายปีที่แล้ว โครงการพระราชดำริแต่ละแห่ง นับสี่สิบกว่าโครงการจะนำผลงานไปจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติในหลวง ซึ่งส่วนใหญ่โครงการอื่น ๆ จะเสนอผลงานพวกหัตถกรรมวิชาชีพ แต่ของดอยอมพาย เราเล็งเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จึงชวนทหารมาสำรวจประเมินความเป็นไปได้ และเก็บภาพดอยอมพายหลายครั้ง โดยเฉพาะบนเด่นกระต่าย ที่ใครมาก็จะรู้สึกอย่างที่คุณรู้สึกตอนนี้แหละครับ

          "ผมอยากให้ที่นี่มีการเคลื่อนไหว เพราะถ้ามีการเคลื่อนไหว ที่นี่จะไม่ตาย คนพื้นถิ่นจะเห็นคุณค่า และอยากรักษามันไว้ ไม่ต้องกลัวว่าธรรมชาติจะพัง พอถึงช่วงหน้าฝน เส้นทางขึ้นใช้ไม่ได้ ธรรมชาติเขาก็จะมีกลไกฟื้นตัวเขาเอง"

          มีคนบอกฉันว่าอยู่บนเด่นกระต่ายต่อให้เป็นคืนเดือนเพ็ญ ก็ยังเห็นดาวเด่นอยู่ดี แต่พอคืนเดือนมืดต่อให้ดับไฟทุกดวง ก็ยังสว่างจนมองหนทางได้ชัดเจน แปลกแต่จริง อยากให้ลองมาสัมผัสสักครั้ง ดึกดื่นเสียงสนทนาเงียบลง สวนทางกับเสียงฮอกแขวนคอวัวต้องลมที่ดังกร๋องแกร๋ง ๆ ชวนเคลิ้ม แข่งกับเสียงกรนคำรามผลัดกันรับส่งราวอยู่ในรอบแบตเทิลบนเวทีใหญ่จากเต็นท์ข้าง ๆ ดังมาเป็นระลอก
ดอยอมพาย

4. เช้าอีกวันหลังลงจากเด่นกระต่าย 

          แนะนำให้เดินทางกลับคนละทางกับขามา เช่น หากมาทางอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อาจเลือกกลับทางอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อแวะเที่ยวตามหมู่บ้านและแหล่งท่องเที่ยวระหว่างทาง บัวตองกลีบบางเริ่มอวดดอกหร็อมแหร็มเตรียมรับลมหนาว ที่คาดว่าจะอร่ามทั่วเส้นทางในเดือนธันวาคม ต่างจากนาข้าวขั้นบันไดที่ชาวบ้านกำลังแข็งขันเอาแรงเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นก่อนหนาวนี้

          จุดแรกที่แวะคือนาขั้นบันไดของบ้านห้วยห้า อยู่ห่างจากสถานีฯ ไปประมาณ 7 กิโลเมตร จากนั้นมุ่งหน้าสู่บ้านดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ก่อนถึงจะเห็นวิวนาขั้นบันไดสดลูกหูลูกตา เสียดายก็แต่ปีนี้ข้าวสุกเร็วกว่าปกติจึงไม่เห็นทุ่งนาสีทองอย่างที่คาด ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกข้าวไว้กินเอง ไม่ใช่เพื่อจำหน่าย และทำนาเพียงปีละครั้ง โดยเริ่มปลูกช่วงเดือนมิถุนายน แล้วเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคมต่อพฤศจิกายน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ที่ทำให้ระยะเวลาคลาดเคลื่อนบ้าง เช่นปีนี้ที่ข้าวสุกเร็วกว่าปกติ

ดอยอมพาย

          หรือจะแวะที่บ้านละอูบ หมู่บ้านชาวลัวะที่มีความโดดเด่นด้านการตีเครื่องเงิน และหากมีเวลาแนะนำให้แวะพักหรือแวะชิมกาแฟอะราบิกาขึ้นชื่อของบ้านห้วยห้อม ที่เหล่านักชิมบอกว่ากลิ่นหอม รสชาตินุ่มละมุนอีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตต้นทางของกาแฟสตาร์บัคส์ที่หลายคนคุ้นเคย นอกจากนี้ บ้านห้วยห้อมยังได้รับรางวัลหมู่บ้านต้นแบบท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม ขึ้นชื่อเรื่องผ้าทอขนแกะที่กลุ่มมิชชันนารีเป็นคนนำความรู้มาสอนชาวบ้านไว้ตั้งแต่ปี 2550 มีทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าปูโต๊ะ จากผ้าทอขนแกะล้วนและผ้าขนแกะผสมกับผ้าฝ้ายพื้นเมืองย้อมสีธรรมชาติ หรือจะลองพักโฮมสเตย์ที่บ้านห้วยห้อมอีกสักคืนก็บรรยากาศดีไม่น้อย

          นาทีนี้หมู่บ้านรอบ ๆ ดอยอมพาย คล้ายตะวันที่เริ่มฉายสู่คนข้างนอก เป็นแสงเข้าที่อบอุ่น นุ่มนวล มีชีวิต และสัมผัสได้ ไม่โดดเด่น เช่นกระต่ายในดวงจันทร์อีกต่อไป ที่ต้องรอถึงคืนเพ็ญถึงจะเห็นหน้ากันสักครั้ง

ดอยอมพาย

ดอกไม้งามบนดอยอมพาย

          ครูสุภาพ พุมเรียงป่า ครูโรงเรียนบ้านแม่และ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย หญิงสาวจากจังหวัดสุโขทัย ดั้นดันเดินข้ามดอยสูงลูกแล้วลูกเล่า โดยไม่ทราบชะตากรรมว่ามีภาระอะไรรอครูสาวอย่างเธออยู่บ้าง 18 ปี ผ่านไป เธอคือดอกไม้ที่เบ่งบานงดงามที่สุดบนดอยอมพาย ท่ามกลางภาระอันหนักหน่วงที่ต้องดูแลลูกศิษย์กว่า 70 ชีวิต ที่โรงเรียนบ้านแม่และ อำเภอห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือจริง ๆ แล้วอาจต้องเรียกว่า "ลูก" เด็กจำนวน 23 คน ในนั้น ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านของครูสุภาพ มีตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อยามเจ็บป่วย ครูต้องทุลักทุเลพาเด็ก ๆ ไปโรงพยาบาลในอำเภอที่ใกล้ที่สุด ซึ่งก็กินเวลากว่าสี่ห้าชั่วโมงในการเดินทาง

          "เด็กพวกนี้ขาดทุกอย่าง ขาดโอกาส ขาดทุนทรัพย์ มาหาครูตัวเปล่าจริง ๆ มีแต่ชุดที่ใส่กับย่ามหนึ่งใบมาเท่านั้น แต่ครูก็ทิ้งพวกเขาไม่ได้ ในเมื่อวันที่ครูมาถึงที่นี่อย่างโดดเดี่ยว ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ของเขาได้ช่วยครูไว้มากมาย ครูถือว่าไม่ว่าที่ไหนก็แผ่นดินไทยทั้งนั้น หน้าที่อย่างเดียวของเราคือสร้างคุณความดีไว้กับแผ่นดิน จะชายขอบหรือเมืองใหญ่ หน้าที่เราย่อมไม่ต่างกัน"

          ครูสุภาพเป็นคนหนึ่งที่พยายามพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับคืนมาโดยการยืดหลักการให้ความรู้ เพราะเห็นแล้วว่าเมื่อเขามีความรู้ เขาจะมีเป้าหมายในชีวิต และคิดเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องแต่งงาน เรื่องขยายพื้นที่ทำกิน ครูไม่ได้เพียงพูดให้ฟัง แต่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ครูเริ่มทดลองปลูกกาแฟได้ร่มเงาไม้ใหญ่ ตอนนี้เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว ที่สำคัญกาแฟมีอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตนานเกือบ 30 ปี ทำให้เขาเห็นว่าไม่ต้องถางป่าเพิ่ม ก็มีรายได้ได้เช่นกัน

          "ครูโชคดีที่คนที่นี่เขารักครู ครูบอกอะไร เขาจะพยายามทำให้ ครูเคยบอกว่าถ้าบ้านไหนถางป่าอีก ครูจะกลับลงข้างล่าง เขาก็เชื่อและไม่ตัดอีกเลย"

          ความฝันสูงสุดของครูสุภาพ คืออยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือสูง ๆ แล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิดอย่างเข้าใจ ส่วนความฝันเล็ก ๆ ที่อยากให้เป็นจริง คือ อยากมีห้องสมุดสักหลังที่โรงเรียน เด็กบนนี้รักการอ่านมาก เขามีสมาธิดี เพราะไม่มีสื่ออื่นมารบกวน แต่เราไม่มีสื่อ ไม่มีหนังสือดี ๆ ให้เขา ส่วนหนังสือเท่าที่มีอยู่ก็เก่าและขาดวิ่น แต่ครูยังเก็บไว้ให้รุ่นหลัง ๆ อ่าน ไม่กล้าทิ้ง เสียดายความรู้ในนั้น แม้บางเล่มเนื้อหาจะหนักเกินไปสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษา
          "แม้ครูจะอยู่ใกล้สถานี แต่ไม่เคยมีโอกาสได้รับเสด็จพระราชินีสักครั้ง เพราะต้องดูแลลูก ๆ เด็ก ๆ เขาเห็นเฮลิคอปเตอร์แล้วจะกลัว เพราะไม่เคยเห็น วิ่ง ร้องไห้ ครูเลยต้องอยู่ปลอบเขา ทั้งที่อยากไปรับเสด็จสักครั้งในชีวิต"

          ลมหนาวกระทบดอกบัวตองเอนไหวเป็นสัญญาณสู่หน้าหนาว แต่ดอกไม้งามบนดอยอมพายดอกนี้คล้ายจะเบ่งงานและยืนหยัดเพื่อคนอื่นอย่างไม่มีฤดูกาล


ดอยอมพาย

ดอยอมพาย

คู่มือนักเดินทาง

          สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยอมพาย ตั้งอยู่ที่หมู่ 9 ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ พิกัด 47 Q MA 985336 ความสูง 1,100 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง 

          ส่วนเด่นกระต่าย ตั้งอยู่ที่บ้านเซโดซา 9.70 กิโลเมตร พิกัด 48 Q HA 094345 ความสูงประมาณ 1,460 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง

          การเดินทางสู่สถานีฯ ต้องใช้พาหนะขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือจักรยานยนต์วิบาก เนื่องจากบางช่วงเป็นถนนลูกรังและมีความลาดชันสูง ส่วนการขึ้นเด่นกระต่ายนั้น เพื่อความปลอดภัยนักท่องเที่ยวต้องโทรศัพท์แจ้งเข้าพื้นที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน (ตามเบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถามด้านล่าง) กำหนดให้นักท่องเที่ยวขึ้นลงเด่นกระต่ายได้ไม่เกินเวลา 14.00 น. ในแต่ละวัน โดยนำรถมาจอดและลงทะเบียนที่สถานีฯ แล้วนั่งรถของชาวบ้านไปยังจุดเริ่มต้นเดินขึ้นเด่นกระต่ายที่บ้านสาม (ค่าใช้จ่าย 800 บาท ต่อคัน สามารถนั่งได้ 10 คน พร้อมขนส่งสัมภาระ) ใช้เวลาเดินประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที ทางไม่ลาดชันมากนัก เดินได้ง่าย ส่วนสัมภาระจำเป็นอื่น ๆ เช่น น้ำ อาหาร ถ่าน เต็นท์ รถเจ้าหน้าที่จะขึ้นไปส่งให้ ขากลับในตอนเช้าเดินลงอีกด้านมายังสถานีฯ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 

          เพื่อความคุ้มค่าในการท่องเที่ยว แนะนำให้เดินทางไปและกลับคนละเส้นทาง เช่น ถ้าไปทางอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ควรกลับทางอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งระหว่างทางทั้งไปและกลับมีแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เวียงท่ากาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ น้ำตกวชิรธาร น้ำตกแม่ปาน น้ำตกสิริภูมิ บ้านแม่กลางหลวง วัดต่าง ๆ ในอำเภอแม่แจ่ม ออบหลวง สวนสนบ่อแก้ว ถ้ำแก้วโกมล สบเมย ฯลฯ

ดอยอมพาย

การเดินทาง

          สามารถเดินทางไปดอยอมพายได้ 3 เส้นทาง ดังนี้...

          1. เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 ขับตรงไปประมาณ 30 กิโลเมตร ถึงจุดตรวจที่ 2 มีทางแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 1192 ขับไปอีก 25 กิโลเมตร ถืออำเภอแม่แจ่ม ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1088 เข้าสู่เขตตำบลปางหินฝน เลี้ยวซ้ายตรงแยกบ้านทุ่งหญ้า ถนนจะเป็นลูกรัง ขับไปอีก 40 กิโลเมตร ถึงทางแยกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสาม ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนลูกรัง ขับตรงไปจนถึงสถานีฯ รวมระยะทาง 150 กิโลเมตร ใช้เวลา 4 ชั่วโมง

          2. จากจังหวัดเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 ประมาณ 55 กิโลเมตร ถึงทางแยกอินทนนท์ เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 1009 ถึงสถานีตำรวจภูธรบ่อหลวงให้เลี้ยวขวาสู่ทางหลวงหมายเลข 1270 ไปอีก 30 กิโลเมตร ต่อด้วยถนนลูกรังอีก 40 กิโลเมตร จนถึงสถานีฯ รวมระยะทาง 202 กิโลเมตร ใช้เวลา 6 ชั่วโมง

          3. จากตัวอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 จนถึงอำเภอแม่ลาน้อย เลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 1266 ขับไปประมาณ 20 กิโลเมตร จากนั้นเข้าสู่ถนนลูกรังขับต่อไปอีก 15 กิโลเมตร จนถึงสถานี รวมระยะทาง 47 กิโลเมตร ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที

ดอยอมพาย

ฤดูกาล
          ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยว คือ กลางเดือนตุลาคม-เดือนเมษายน อุณหภูมิปกติในเดือนพฤษภาคม-กันยายน ประมาณ 22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในฤดูหนาวบางช่วงของเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ อาจลดต่ำลงอยู่ที่ประมาณ 5 - 10 องศาเซลเซียส

ที่พัก

          มีลานกางเต็นท์บริเวณสถานีฯ และที่เด่นกระต่าย ที่สถานีฯ มีห้องสุขาบริการ ส่วนบนเด่นกระต่ายไม่มีอาหาร ให้นักท่องเที่ยวเตรียมอาหารและน้ำดื่มขึ้นไปเอง โดยอาจแวะซื้อเสบียงได้ที่ตลาดในอำเภอแม่แจ่ม หรือตลาดในอำเภอแม่ลาน้อย และบริเวณดอยอมพายยังไม่มีร้านอาหารให้บริการ

ดอยอมพาย

รู้ก่อนขึ้นดอย
          1. บนเด่นกระต่ายไม่มีแหล่งน้ำและสาธารณูปโภคใด ๆ นักท่องเที่ยวควรเตรียมทิชชูเปียก ไฟฉาย และถุงพลาสติกสำหรับเก็บขยะ

          2. อยู่ห่างการสื่อสารได้เป็นการดี เพราะบริเวณโดยรอบไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จะมีสัญญาณเอไอเอสอยู่ที่สถานีฯ และมีสัญญาณอื่น ๆ บ้างบริเวณเด่นกระต่าย

          3. กรณีใช้ฟืนไฟทำอาหาร ควรสำรวจให้ละเอียดว่าดับไฟเรียบร้อยแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดไฟป่า

          4. บนเด่นกระต่ายมีทากอยู่บ้าง

          5. ห้ามยิงปืนและเผาป่า

ติดต่อสอบถาม

           นายวิเชียร ศรีพระจันทร์ โทรศัพท์ 08 1289 6480 (ติดต่อเรื่องขึ้นเด่นกระต่าย)

           นางมะลิวรรณ นักรบไพร โทรศัพท์ 08 9555 3900 (ติดต่อโฮมสเตย์บ้านห้วยห้อม)

           ครูสุภาพ พุมเรียงป่า โทรศัพท์ 08 5271 8179 (เฉพาะเวลาราชการ)

           นายไกรวุฒิ ปิฎก ปุ๊ดธิ โทรศัพท์ 08 4373 2830 (กรณีต้องการช่วยเหลือโรงเรียนในพื้นที่ดอยอมพาย)

บทความที่ได้รับความนิยม