คืนเพ็ญบนเด่นกระต่าย และดอยอมพายในวันฉายแสง (อ.ส.ท.)
จริยา ชูช่วย...เรื่อง
นพดล กันบัว ไกรวุฒิ ปิฎก ปุ๊ดธิ...ภาพ
"เด่นกระตง กระต่ายที่ไหนไม่มีหรอก มีแต่ดอยหัวโล้น ดินมันแห้ง แดงเถือกไปทั้งเขา ต้นไม้ไม่มีเลย เหลือแต่ตอแต่ครูชอบขี่มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาบนนี้นะ ทำไมน่ะเหรอ มองไปสิ คลื่นภูเขาตรงหน้า มันเป็นริ้วสลับแสงเงาหลากสีไล่โทนกันเป็นชั้น ๆ งามพิลึก เหมือนแสงแห่งความหวังของคนที่นี่ แต่เธอคงนึกภาพไม่ออกหรอก ก็นั่นมันเมื่อ 18 ปีมาแล้ว ตอนหลังดอยมันเริ่มเขียวขึ้น เขียวขึ้น ตั้งแต่มีโครงการฯ มาลงต้นไม้นั่นแหละ เขียวจนมีขี้กระต่ายป่าเต็มไปหมด สงสัยจะเรียกว่าเด่นกระต่ายด้วยเหตุนี้ละมัง" ครูสุภาพ พุมเรียงป่า คนพื้นราบที่ไปปักหลักเป็นครูดอยเล่าความหลังให้ฟัง
1. เคยนั่งหลังช้างไหม
ระยะทางหลังผ่านอำเภอแม่แจ่มไปอีกกว่า 40 กิโลเมตร ก่อนถึงดอยอมพายให้ความรู้สึกเหมือนกำลังโยกตัวไปมาบนแหย่งหลังช้าง ต่างกันตรงที่เวลาลงหลุม โช้ครถมันลงไม่นิ่มเหมือนกับขาช้าง ไม่พักจินตนาการไปถึงยามหน้าฝน ที่ช้างตัวเดิมไปเสริมออพชั่นเหมือนสวมสกีบกพร้อมลื่นไถลได้ตลอดเวลา นี่ยังไม่นับรวมต้องลุ้นว่าระยะเวลาสามสี่ชั่วโมงต่อ แต่นี้จะรอดพ้นจากหล่มกันหรือไม่ ... ห่างไกลจนเผลอคิดไปว่าจะมีใครขึ้นมาทำอะไรบนนี้
พระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครั้งเสด็จพระราชดำเนินดอยอมพาย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 แขวนเด่นในอาคารสำนักงานของสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยอมพาย ฉายสะท้อนความจริงว่า แม้ลูกจะอยู่ในแดนดอยห่างไกลสักเท่าไร ก็ไม่เคยไกลห่างจากสายตาแม่ และไม่มีที่แห่งไหนที่แม่จะเดินทางไปหาลูกไม่ถึง
ในการเสด็จครั้งนั้น พระองค์ทอดพระเนตรเห็นผืนป่าดอยอมพายถูกแผ้วถางทำไร่เลื่อนลอยกินพื้นที่นับพันไร่ และหากปล่อยไว้มีแนวโน้มว่าชาวบ้านจะขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มอีก เช่นนี้แล้วคอยอมพายซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ มีลำห้วยแม่ปุ๊ ลำห้วยไม้หมื่น ไหลสู่ลำห้วยแม่ปิงน้อย ก่อนไหลต่อไปยังลำน้ำแม่แจ่ม คงหมดเกลี้ยง อีกทั้งสัตว์ป่า พวกเก้ง ชะนี กระต่าย ไก่ป่า หมูป่า เม่นหางพวง นก และงูต่าง ๆ ก็คงไร้ที่อยู่อาศัย เมื่อทอดพระเนตรดังนั้น พระองค์ทรงเชิญหลายหน่วยงาน ทั้งแม่ทัพภาคที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และมีพระราชดำริให้จัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริดอยอมพาย หรือที่หลายคนเรียกกันว่าโครงการพระราชดำริดอยอมพาย ขึ้นที่ตำบลปางหินฝน อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นับแต่นั้น
สาเหตุที่ดอยอมพายเหี้ยนเตียน เกิดจากการถางป่าทำไร่เลื่อนลอย และเหตุที่ต้องทำไร่เลื่อนลอยก็เพราะภาวะขาดแคลนน้ำ และดินขาดสารอาหาร เมื่อปลูกอะไรไม่ขึ้น ชาวบ้านจึงย้ายแหล่งทำกินไปเรื่อย ๆ หลักการแก้ปัญหาจึงต้องกลับมาที่การปรับสมดุลของระบบนิเวศต้นน้ำให้กลับคืนมา ควบคู่กับการแนะให้ชาวบ้านรู้จักบำรุงปรับปรุงดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น ในพื้นที่ทำกินเท่าเดิม ที่สำคัญคือสอนให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล และสามารถพึ่งพาตนเองตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงได้
ตั้งแต่ก่อตั้งสถานีฯ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้น จึงคืนพื้นที่ป่าบริเวณสถานีฯ และบริเวณใกล้เคียงรวม 3,585 ไร่ และใช้เป็นแปลงปลูกป่าดิบเขาตามสภาพเดิมไปแล้วกว่า 980 ไร่ จนเกิดเป็นป่าที่มีความหลากหลายของไม้ยืนต้นกว่า 200 ชนิด และแหล่งน้ำรอบดอยอมพายก็กลับมาสมบูรณ์ขึ้น ในสถานีฯ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้และทดลองปลูกพืชผักผลไม้ทางเศรษฐกิจ เช่น สตรอว์เบอร์รี กาแฟ ชา ถั่วอะชูกิ เสาวรส ดอกไม้จีน ฯลฯ
แนะนำว่ามาถึงดอยอมพายแล้ว อย่าลืมถามหาบรอกโคลินี (Brocolini) พืชตระกูลเดียวกับบรอกโคลี แต่ลักษณะดอกไม่เกาะเป็นกลุ่ม และมีก้านแตกแขนงตรงข้อ ที่สำคัญรสชาติหวานกรุบกรอบกินได้ทั้งต้น หรือจะเดินเล่นเพลิน ๆ ชมไก่สามเหลืองอมพาย ดูวิธีเลี้ยงหมูหลุม และทักทายกับเจ้ากระต่ายผู้นำ ที่เอากระต่ายบ้านมาฝึกให้ขุดหลุมได้เอง เพื่อทดลองปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติต่อไป
2. อมพาย ชื่อนี้ชวนฉงน
จากการสอบถามหลายคนในพื้นที่ ไม่มีใครทราบความหมายที่แน่ชัดเพียงแต่สันนิษฐานกันว่า เหตุที่เรียกว่าดอยอมพาย เพราะสันดอยแห่งนี้ลากยาวไปจดที่หมู่บ้านยางอมพาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ห่างจากดอยอมพายไปราว 40 กิโลเมตร จึงเรียกชื่อดอยตามชื่อหมู่บ้าน แต่กร่อนให้สั้นลง เหลือเพียงดอยอมพาย ชาวลัวะเรียกบริเวณที่ตั้งสถานีฯ ว่า เหงียกกัง หมายถึง จุดที่มีทิวทัศน์งดงาม ปลอดโปร่ง ส่วนภาษาปกากะญอ จะเรียกบริเวณสถานีฯ ว่า เบอะนาที เป็นชื่อต้นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ขึ้นมากแถบนี้ มีเม็ดสีขาวคล้ายลูกปัด เชื่อว่าหากพกติดตัวยามเดินทางจะสามารถป้องกันอันตรายจากผีป่าได้
ยามอาทิตย์กำลังลับเหลี่ยมเขา จากสถานีฯ สามารถมองเห็นวิวของบ้านสาม หมู่บ้านเล็ก ๆ ราว 40 หลังคาเรือน ซ่อนตัวอยู่ในฟากเขาตรงข้ามได้ชัด มีสิ่งก่อสร้างสะดุดตาที่ต่างจากพวกเพียงหลังเดียว คืออาคารของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสาม นอกนั้นคือพื้นที่สีเขียวของผืนป่า จากภาพฉากหลังตัดฉับมาเป็นภาพโคลสอัพตรงหน้า ชาวบ้านบ้าง กำลังเดิน บ้างก็นั่งท้ายรถกระบะเตรียมตัวกลับบ้าน หลังเสร็จภารกิจจากไร่นาและจากสถานีฯ ท่วงท่ารวมถึงเสื้อผ้าที่สวมใส่ งดงาม เพลินตา และมีชีวิตชีวาเหมือนการนั่งดูแฟชั่นโชว์ดี ๆ สักงาน
สร้อยลูกปัดแผงใหญ่สีตัดจัดจ้า แดง ฟ้า เหลือง สอดรับกับใบหน้ารูปไข่เปื้อนริ้วรอยของหญิงวัยทำงาน อีกทั้งลายสวยของเสื้อทดและซิ่นผืนเก่า ที่บางคนใส่กางเกงสมัยใหม่ไว้ด้านในซิ่นอีกชั้น เพื่อความคล่องตัว หรือบ้างก็ใส่เสื้อยืดแบบเราคลุมทับเสื้อผ้าทอลายสวยอีกที หากแต่ไม่สิ้นเสน่ห์แห่งชาติพันธุ์ด้วยเครื่องประดับและเครื่องมือทำมาหากิน ยามกลับบ้านศีรษะหญิงสาวไม่เคยห่างกระบุงก้นลึก อยู่ที่ว่าในกระบุงจะแบกรับน้ำหนักมหาศาลของพืชผลตามฤดูกาลชนิดใด บางคนก็คาบกล้องยาสูบพ่นควันปุ๋ย ๆ เป็นการมิกซ์ แอนด์ แมทช์ ที่ดูเป็นธรรมชาติและสวยงามอย่างลงตัว
บ้านสาม บ้านละอางใต้ และบ้านผักไผ่ (ปอมีโจ๊ะ) เป็นหมู่บ้านกลุ่มเป้าหมายของโครงการพระราชดำริดอยอมพาย ชาวบ้านส่วนใหญ่ของบ้านสามและบ้านละอางใต้เป็นชาวลัวะ ส่วนที่บ้านผักไผ่เป็นชาวปกากะญอ นับถือศาสนาคริสต์ รองมาคือศาสนาพุทธ ทั้งสามหมู่บ้านอยู่ในตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ชายแดนติดกับอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หากมาเยี่ยมเยือนในเดือนธันวาคมถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมฉลองเทศกาลคริสต์มาสที่คริสตจักรบ้านสาม ส่วนในช่วงเข้าพรรษามักมีภิกษุขึ้นมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์รอบ ๆ หมู่บ้าน เช่น สำนักสงฆ์บ้านผักไผ่ (ปอมีโจ๊ะ) สำนักสงฆ์บ้านละอางเหนือ
ฉันว่าอีกอย่างที่ทำให้หมู่บ้านแถบนี้ดูมีเสน่ห์ในสายตาผู้มาเยือนจากเมืองใหญ่ ก็ตรงที่ไม่มีไฟฟ้าและสัญญาณโทรศัพท์นี่แหละ ไม่น่าเชื่อว่าเวลาผ่านไปไม่กี่ปี สิ่งที่เรียกว่า "ไม่มี" กลับกลายเป็นเสน่ห์ที่คน "มี" หลายคนโหยหาขึ้นทุกวัน
3. ก่อนคืนเพ็ญบนเด่นกระต่าย
เลยแยกบ้านเซโดซา อำเภอแม่แจ่ม หนึ่งในหมู่บ้านขยายผลของโครงการฯ ไปอีกเกือบ 10 กิโลเมตร คือที่ตั้งของ เด่นกระต่าย จุดหมายของเราเย็นวันนี้ เด่น มีความหมายว่า เนิน หรือ ม่อน ส่วนคำว่า กระต่าย ก็คงมาจากความหมายที่ครูสุภาพเล่าให้ฟังตามที่ได้กล่าวไว้ในบทนำ แต่การณ์กลับตาลปัตรอีกรอบเมื่อปัจจุบันนี้กระต่ายที่เคยทิ้งขี้เกลื่อนไว้ให้ครูจดจำ กลับไม่มีมาให้เห็นสักตัว เพราะสาเหตุใหม่ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ป่าลดน้อยลง แต่คงเป็นเพราะคนจับกระต่ายเพิ่มมากขึ้น
เด่นกระต่ายสูง 1,460 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง เป็นเนินหญ้า เหมาะแก่การแค้มปิ้ง มีต้นสนปกคลุมแต่ไม่หนาแน่น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของดอยหลวง ซึ่งเป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในบริเวณดอยอมพาย ยามเย็นมองเห็นริ้วคลื่นภูเขาสุดลูกตาไหล ยาวแบบพานอรามาแสงหักเหตามองศาหนักเบา งดงามจนไม่มีใครยอดละสายตามาพูดจากัน ปล่อยให้คลื่นภูเขาและเงาหนักเบาเหล่านั้นถาโถมความรู้สึกเต็มอารมณ์ จนตะวันลับขอบฟ้า เสียงสนทนาจึงค่อย ๆ ดังขึ้นอีกครั้ง
ร้อยเอก สิริเขตต์ วาณิชบำรุง หรือผู้กองเขตต์ เล่าว่า ในช่วงปลายปีที่แล้ว โครงการพระราชดำริแต่ละแห่ง นับสี่สิบกว่าโครงการจะนำผลงานไปจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติในหลวง ซึ่งส่วนใหญ่โครงการอื่น ๆ จะเสนอผลงานพวกหัตถกรรมวิชาชีพ แต่ของดอยอมพาย เราเล็งเห็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยว จึงชวนทหารมาสำรวจประเมินความเป็นไปได้ และเก็บภาพดอยอมพายหลายครั้ง โดยเฉพาะบนเด่นกระต่าย ที่ใครมาก็จะรู้สึกอย่างที่คุณรู้สึกตอนนี้แหละครับ
"ผมอยากให้ที่นี่มีการเคลื่อนไหว เพราะถ้ามีการเคลื่อนไหว ที่นี่จะไม่ตาย คนพื้นถิ่นจะเห็นคุณค่า และอยากรักษามันไว้ ไม่ต้องกลัวว่าธรรมชาติจะพัง พอถึงช่วงหน้าฝน เส้นทางขึ้นใช้ไม่ได้ ธรรมชาติเขาก็จะมีกลไกฟื้นตัวเขาเอง"
มีคนบอกฉันว่าอยู่บนเด่นกระต่ายต่อให้เป็นคืนเดือนเพ็ญ ก็ยังเห็นดาวเด่นอยู่ดี แต่พอคืนเดือนมืดต่อให้ดับไฟทุกดวง ก็ยังสว่างจนมองหนทางได้ชัดเจน แปลกแต่จริง อยากให้ลองมาสัมผัสสักครั้ง ดึกดื่นเสียงสนทนาเงียบลง สวนทางกับเสียงฮอกแขวนคอวัวต้องลมที่ดังกร๋องแกร๋ง ๆ ชวนเคลิ้ม แข่งกับเสียงกรนคำรามผลัดกันรับส่งราวอยู่ในรอบแบตเทิลบนเวทีใหญ่จากเต็นท์ข้าง ๆ ดังมาเป็นระลอก
4. เช้าอีกวันหลังลงจากเด่นกระต่าย
แนะนำให้เดินทางกลับคนละทางกับขามา เช่น หากมาทางอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ อาจเลือกกลับทางอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อแวะเที่ยวตามหมู่บ้านและแหล่งท่องเที่ยวระหว่างทาง บัวตองกลีบบางเริ่มอวดดอกหร็อมแหร็มเตรียมรับลมหนาว ที่คาดว่าจะอร่ามทั่วเส้นทางในเดือนธันวาคม ต่างจากนาข้าวขั้นบันไดที่ชาวบ้านกำลังแข็งขันเอาแรงเก็บเกี่ยวให้เสร็จสิ้นก่อนหนาวนี้
จุดแรกที่แวะคือนาขั้นบันไดของบ้านห้วยห้า อยู่ห่างจากสถานีฯ ไปประมาณ 7 กิโลเมตร จากนั้นมุ่งหน้าสู่บ้านดง ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ลาน้อย ก่อนถึงจะเห็นวิวนาขั้นบันไดสดลูกหูลูกตา เสียดายก็แต่ปีนี้ข้าวสุกเร็วกว่าปกติจึงไม่เห็นทุ่งนาสีทองอย่างที่คาด ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกข้าวไว้กินเอง ไม่ใช่เพื่อจำหน่าย และทำนาเพียงปีละครั้ง โดยเริ่มปลูกช่วงเดือนมิถุนายน แล้วเก็บเกี่ยวช่วงเดือนตุลาคมต่อพฤศจิกายน ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ที่ทำให้ระยะเวลาคลาดเคลื่อนบ้าง เช่นปีนี้ที่ข้าวสุกเร็วกว่าปกติ
หรือจะแวะที่บ้านละอูบ หมู่บ้านชาวลัวะที่มีความโดดเด่นด้านการตีเครื่องเงิน และหากมีเวลาแนะนำให้แวะพักหรือแวะชิมกาแฟอะราบิกาขึ้นชื่อของบ้านห้วยห้อม ที่เหล่านักชิมบอกว่ากลิ่นหอม รสชาตินุ่มละมุนอีกทั้งยังเป็นแหล่งผลิตต้นทางของกาแฟสตาร์บัคส์ที่หลายคนคุ้นเคย นอกจากนี้ บ้านห้วยห้อมยังได้รับรางวัลหมู่บ้านต้นแบบท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรม ขึ้นชื่อเรื่องผ้าทอขนแกะที่กลุ่มมิชชันนารีเป็นคนนำความรู้มาสอนชาวบ้านไว้ตั้งแต่ปี 2550 มีทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าปูโต๊ะ จากผ้าทอขนแกะล้วนและผ้าขนแกะผสมกับผ้าฝ้ายพื้นเมืองย้อมสีธรรมชาติ หรือจะลองพักโฮมสเตย์ที่บ้านห้วยห้อมอีกสักคืนก็บรรยากาศดีไม่น้อย
นาทีนี้หมู่บ้านรอบ ๆ ดอยอมพาย คล้ายตะวันที่เริ่มฉายสู่คนข้างนอก เป็นแสงเข้าที่อบอุ่น นุ่มนวล มีชีวิต และสัมผัสได้ ไม่โดดเด่น เช่นกระต่ายในดวงจันทร์อีกต่อไป ที่ต้องรอถึงคืนเพ็ญถึงจะเห็นหน้ากันสักครั้ง
ดอกไม้งามบนดอยอมพาย
ครูสุภาพ พุมเรียงป่า ครูโรงเรียนบ้านแม่และ ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย หญิงสาวจากจังหวัดสุโขทัย ดั้นดันเดินข้ามดอยสูงลูกแล้วลูกเล่า โดยไม่ทราบชะตากรรมว่ามีภาระอะไรรอครูสาวอย่างเธออยู่บ้าง 18 ปี ผ่านไป เธอคือดอกไม้ที่เบ่งบานงดงามที่สุดบนดอยอมพาย ท่ามกลางภาระอันหนักหน่วงที่ต้องดูแลลูกศิษย์กว่า 70 ชีวิต ที่โรงเรียนบ้านแม่และ อำเภอห้วยห้อม จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือจริง ๆ แล้วอาจต้องเรียกว่า "ลูก" เด็กจำนวน 23 คน ในนั้น ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านของครูสุภาพ มีตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อยามเจ็บป่วย ครูต้องทุลักทุเลพาเด็ก ๆ ไปโรงพยาบาลในอำเภอที่ใกล้ที่สุด ซึ่งก็กินเวลากว่าสี่ห้าชั่วโมงในการเดินทาง
"เด็กพวกนี้ขาดทุกอย่าง ขาดโอกาส ขาดทุนทรัพย์ มาหาครูตัวเปล่าจริง ๆ มีแต่ชุดที่ใส่กับย่ามหนึ่งใบมาเท่านั้น แต่ครูก็ทิ้งพวกเขาไม่ได้ ในเมื่อวันที่ครูมาถึงที่นี่อย่างโดดเดี่ยว ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ของเขาได้ช่วยครูไว้มากมาย ครูถือว่าไม่ว่าที่ไหนก็แผ่นดินไทยทั้งนั้น หน้าที่อย่างเดียวของเราคือสร้างคุณความดีไว้กับแผ่นดิน จะชายขอบหรือเมืองใหญ่ หน้าที่เราย่อมไม่ต่างกัน"
ครูสุภาพเป็นคนหนึ่งที่พยายามพลิกฟื้นผืนป่าให้กลับคืนมาโดยการยืดหลักการให้ความรู้ เพราะเห็นแล้วว่าเมื่อเขามีความรู้ เขาจะมีเป้าหมายในชีวิต และคิดเรื่องอื่นมากกว่าเรื่องแต่งงาน เรื่องขยายพื้นที่ทำกิน ครูไม่ได้เพียงพูดให้ฟัง แต่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ครูเริ่มทดลองปลูกกาแฟได้ร่มเงาไม้ใหญ่ ตอนนี้เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว ที่สำคัญกาแฟมีอายุเก็บเกี่ยวผลผลิตนานเกือบ 30 ปี ทำให้เขาเห็นว่าไม่ต้องถางป่าเพิ่ม ก็มีรายได้ได้เช่นกัน
"ครูโชคดีที่คนที่นี่เขารักครู ครูบอกอะไร เขาจะพยายามทำให้ ครูเคยบอกว่าถ้าบ้านไหนถางป่าอีก ครูจะกลับลงข้างล่าง เขาก็เชื่อและไม่ตัดอีกเลย"
ความฝันสูงสุดของครูสุภาพ คืออยากให้เด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือสูง ๆ แล้วกลับมาพัฒนาบ้านเกิดอย่างเข้าใจ ส่วนความฝันเล็ก ๆ ที่อยากให้เป็นจริง คือ อยากมีห้องสมุดสักหลังที่โรงเรียน เด็กบนนี้รักการอ่านมาก เขามีสมาธิดี เพราะไม่มีสื่ออื่นมารบกวน แต่เราไม่มีสื่อ ไม่มีหนังสือดี ๆ ให้เขา ส่วนหนังสือเท่าที่มีอยู่ก็เก่าและขาดวิ่น แต่ครูยังเก็บไว้ให้รุ่นหลัง ๆ อ่าน ไม่กล้าทิ้ง เสียดายความรู้ในนั้น แม้บางเล่มเนื้อหาจะหนักเกินไปสำหรับเด็กวัยอนุบาลและประถมศึกษา
"แม้ครูจะอยู่ใกล้สถานี แต่ไม่เคยมีโอกาสได้รับเสด็จพระราชินีสักครั้ง เพราะต้องดูแลลูก ๆ เด็ก ๆ เขาเห็นเฮลิคอปเตอร์แล้วจะกลัว เพราะไม่เคยเห็น วิ่ง ร้องไห้ ครูเลยต้องอยู่ปลอบเขา ทั้งที่อยากไปรับเสด็จสักครั้งในชีวิต"
ลมหนาวกระทบดอกบัวตองเอนไหวเป็นสัญญาณสู่หน้าหนาว แต่ดอกไม้งามบนดอยอมพายดอกนี้คล้ายจะเบ่งงานและยืนหยัดเพื่อคนอื่นอย่างไม่มีฤดูกาล
คู่มือนักเดินทาง
การเดินทาง
สามารถเดินทางไปดอยอมพายได้ 3 เส้นทาง ดังนี้...
ฤดูกาล
ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การท่องเที่ยว คือ กลางเดือนตุลาคม-เดือนเมษายน อุณหภูมิปกติในเดือนพฤษภาคม-กันยายน ประมาณ 22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดในฤดูหนาวบางช่วงของเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ อาจลดต่ำลงอยู่ที่ประมาณ 5 - 10 องศาเซลเซียส
ที่พัก
มีลานกางเต็นท์บริเวณสถานีฯ และที่เด่นกระต่าย ที่สถานีฯ มีห้องสุขาบริการ ส่วนบนเด่นกระต่ายไม่มีอาหาร ให้นักท่องเที่ยวเตรียมอาหารและน้ำดื่มขึ้นไปเอง โดยอาจแวะซื้อเสบียงได้ที่ตลาดในอำเภอแม่แจ่ม หรือตลาดในอำเภอแม่ลาน้อย และบริเวณดอยอมพายยังไม่มีร้านอาหารให้บริการ
รู้ก่อนขึ้นดอย
ติดต่อสอบถาม